วันพฤหัสบดีที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2555

แบบฝึกหัดบทที่ 6

แบบฝึกหัดบทที่ 6 ข้อมูลและการจัดการข้อมูล

1. คุณสมบัติของข้อมูลที่ดีประกอบด้วยอะไรบ้าง จงอธิบาย
ตอบ คุณสมบัติพื้นฐานของข้อมูลที่ดี มีดังต่อไปนี้
- ความถูกต้อง (accuracy)
ข้อมูลที่จะนำมาใช้ในการประมวลผล จำเป็นต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ตรงกับความเป็นจริงหรือถูกต้องตรงกันกับแหล่งข้อมูลนั้น เพราะหากนำข้อมูลที่ผิดมาประมวลผล จะทำให้ได้สิ่งที่ต้องการผิดพลาดตามไปด้วย
- มีความเป็นปัจจุบัน (update)
ข้อมูลซึ่งอยู่ช่วงเวลาหนึ่งในอดีต อาจไม่สามารถนำมาใช้ได้กับอีกช่วงเวลาในปัจจุบันได้ การพิจารณาเลือกเอาข้อมูลที่ทันสมัยมาใช้ในการประมวลผลจะทำให้ได้ข้อมูลที่มีประโยชน์อย่างแท้จริง
-ตรงตามความต้องการ (relevance)
ข้อมูลที่ถูกต้องตรงกับความต้องการของหน่วยงานมากที่สุด ถือเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง ข้อมูลที่ถึงแม้จะถูกต้องมากแค่ไหนก็ตาม แต่ไม่สอดคล้องกับความต้องการก็ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์หรือช่วยในการตัดสินใจใดๆได้
- ความสมบูรณ์ (complete)
ข้อมูลที่จะนำมาประมวลผล บางครั้งอาจมีการเก็บรวบรวมข้อมูลหลายๆครั้งเพื่อให้ได้ข้อมูลที่สมบูรณ์จริงๆ ความสมบูรณ์นี้อาจหมายถึงข้อมูลนั้นต้องมีความครบถ้วนด้วย เช่น ในระบบงานบุคลากรหากเราสนใจเพียงแค่ข้อมูลของพนักงานเฉพาะวุฒิการศึกษาและความสามารถเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ได้สนใจเนื้อหาส่วนที่เกี่ยวข้องกับวันเกิดหรือเพศของพนักงาน กรณีที่นำเอาข้อมูลไปใช้ในการวิจัยและพัฒนาบุคลากร อาจเอาไปใช้ได้อย่างไม่เต็มที่ เพราะบอกไม่ได้ว่าพนักงานแต่ละเพศหรือมีช่วงวัยที่ต่างกัน มีความสามารถที่แตกต่างกันจริงหรือไม่ (เพราะข้อมูลไม่มีความสมบูรณ์นั่นเอง)
- สามารถตรวจสอบได้ (verifiable)
ข้อมูลที่ดี ควรตรวจสอบแหล่งที่มาหรือหลักฐานอ้างอิงต่างๆได้ เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือต่อการนำมาประมวลผล ข้อมูลที่ขาดการตรวจสอบหรือไม่มีความน่าเชื่อถืออาจเป็นกลลวงของคู่แข่งขัน หรือทำให้การประมวลผลได้ข้อมูลผลลัพธ์ที่ผิดตามไปด้วย ซึ่งอาจส่งผลเสียหายในภายหลังได้
2. ข้อมูลภายในสถาบันการศึกษาที่ท่านสังกัดอยู่ มีอะไรบ้าง จงยกตัวอย่างประกอบ
ตอบ สถาบันการศึกษา อาจพอยกตัวอย่างข้อมูลภายในได้ดังนี้
- จำนวนนักศึกษาทั้งหมดในสถาบัน
ซึ่งสามารถแยกหรือหาข้อมูลย่อยๆได้อีกเช่น จำนวนนักศึกษาชาย จำนวนนักศึกษาหญิง จำนวนนักศึกษาระดับปริญญาตรีหรือปริญญาโท เป็นต้น ข้อมูลภายในเหล่านี้อาจดูได้จากหน่วยงานด้านสถิติและทะเบียนนักศึกษาของสถาบันที่สังกัด
- หลักสูตรที่เปิดสอนในระดับต่างๆ
ข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตรที่เปิดสอนในสถาบันการศึกษา ถือเป็นข้อมูลภายในเช่นเดียวกัน ซึ่งในหลายสถาบันอาจมีข้อมูลของหลักสูตรที่ไม่เหมือนกันได้ เช่น ชื่อหลักสูตร ชื่อปริญญา หรือรายละเอียดของหลักสูตรที่ใช้สอน เป็นต้น ข้อมูลภายในเหล่านี้อาจดูได้จากหน่วยงานฝ่ายวิชาการที่กำกับดูแลด้านหลักสูตรโดยตรง
- คณะหรือสาขาวิชาที่มีอยู่
จำนวนคณะหรือสาขาวิชาในแต่ละสถาบันการศึกษา อาจมีจำนวนไม่เท่ากัน เหมือนกับข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตร บางสถาบันอาจมีคณะเพียง 2-3 คณะ บางสถาบันอาจมีมากกว่านั้นได้ บางคณะอาจมีสาขาวิชาสังกัดอยู่เพียงไม่กี่สาขา แต่บางคณะอาจมีอยู่หลายสาขา สามารถทราบข้อมูลเหล่านี้ได้จากหน่วยงานฝ่ายวิชาการเช่นเดียวกัน
3.ไฟล์หรือแฟ้มตารางข้อมูลคืออะไร
ตอบ คือ การนำเอาข้อมูลหลายๆเรคอร์ดที่ต้องการจัดเก็บมาเรียงอยู่ในรูปแบบของแฟ้มตารางข้อมูลเดียวกัน เช่น แฟ้มตารางข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าที่ขาย อาจประกอบด้วยเรคอร์ดของสินค้าหลายๆชนิดที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับ รหัสสินค้า ชื่อสินค้า ราคาสินค้า และจำนวนที่ขายได้ เป็นต้น
4. ข้อมูลปฐมภูมิและข้อมูลทุติยภูมิ แตกต่างกันอย่างไร
ตอบ ข้อมูลปฐมภูมิ (primary data) เป็นข้อมูลที่มีการเก็บหรือรวบรวมก่อนครั้งแรก เพื่อนำไปประมวลผลให้เกิดเป็นข้อมูลทุติยภูมิ (secondary data) ในภายหลัง ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่ออีกได้ เช่นค่าเฉลี่ยคะแนนของนักศึกษารายวิชาคอมพิวเตอร์เบื้องต้น สามารถบ่งชี้หรือนำไปวิเคราะห์ค่าทางสถิติอีกได้ถือเป็นข้อมูลทุติยภูมิ ซึ่งอาจได้มาจากการเก็บรวบรวมคะแนนของนักศึกษาในแต่ละกลุ่มการเรียน(section) ที่ได้ลงทะเบียนเรียนในรายวิชานั้น ซึ่งเป็นข้อมูลปฐมภูมิ เป็นต้น
5.ในแง่ของการจัดการข้อมูลนั้น ข้อมูลมีโอกาสซ้ำกันได้หรือไม่ จะมีวิธีแก้ไขได้อย่างไร
ตอบ ข้อมูลอาจมีการซ้ำกันเกิดขึ้นได้อยู่เสมอในบางฟีลด์ เช่น ชื่อสินค้า ชื่อตัว หรือนามสกุล อาจมีการใช้ที่ซ้ำกันได้ การแก้ไขในเรื่องการจัดการข้อมูลคือ สร้างคีย์ฟีลด์ (key field) เพื่อใช้อ้างอิงหรือระบุข้อมูลโดยเฉพาะ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการอ้างอิงข้อมูลที่ผิด ซึ่งทำให้สะดวกและมีประสิทธิภาพมากกว่า คีย์ฟีลด์ในตารางแฟ้มข้อมูลจะเป็นตัวอ้างอิงหรือระบุเรคอร์ดที่ต้องการได้ ปกติจะเลือกฟีลด์ที่ไม่มีข้อมูลซ้ำกันเลย เช่น ฟีลด์รหัสนักศึกษา ฟีลด์รหัสสินค้า เป็นต้น
6. การจัดโครงสร้างแฟ้มข้อมูลที่ง่ายและเป็นพื้นฐานมากที่สุด คือแบบใด มีหลักการทำงานอย่างไรบ้าง
ตอบ โครงสร้างแฟ้มข้อมูลแบบเรียงลำดับ (sequential file structure) ถือเป็นการจัดโครงสร้างแฟ้มข้อมูลชนิดพื้นฐานและสามารถใช้งานได้ง่ายที่สุด โดยจะเรียงลำดับเรคอร์ดต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ การอ่านหรือค้นคืนข้อมูลจะข้ามลำดับไปอ่านโดยตรงไม่ได้ เมื่อต้องการอ่านข้อมูลที่เรคอร์ดใดๆ โปรแกรมจะเริ่มอ่านข้อมูลตั้งแต่เรคอร์ดแรกไปเรื่อยๆจนกว่าจะพบเรคอร์ดที่ต้องการอ่าน จึงจะเรียกค้นคืนเรคอร์ดนั้นขึ้นมา
7. โครงสร้างแฟ้มข้อมูลแบบสุ่มสามารถทำงานได้เร็ว เป็นเพราะเหตุใด จงอธิบาย
ตอบ การอ่านข้อมูลในเรคอร์ดใดๆสามารถเข้าถึงได้โดยตรง ไม่ต้องรอหรือผ่านเรคอร์ดแรกๆเหมือนกับแฟ้มข้อมูลแบบเรียงลำดับ ก็สามารถเลือกหรืออ่านค่าได้โดยทันที ซึ่งเป็นโครงสร้างที่มีในสื่อประเภทจานแม่เหล็ก เช่น ดิสก์เก็ตต์หรือฮาร์ดดิสก์
8. เหตุใดจึงต้องนำเอาระบบฐานข้อมูลมาใช้ในการทำงาน จงอธิบายและยกตัวอย่างประกอบ
ตอบ เพื่อลดปัญหาเกี่ยวกับการทำงานที่ต่างคนต่างจัดเก็บข้อมูลแยกกัน ให้สามารถทำงานร่วมกันได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยจัดเก็บเป็นฐานข้อมูลกลาง เพื่อให้ทุกฝ่ายหรือทุกหน่วยงานสามารถเลือกใช้ได้และยังทำให้ข้อมูลที่ใช้นั้นมีความตรงกัน และลดความซ้ำซ้อนกันของข้อมูลลงไปได้ เช่น แต่เดิมข้อมูลที่อยู่ลูกค้าของฝ่ายขายและฝ่ายการเงินต่างก็แยกเก็บกันเอง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่อยู่ของลูกค้าเกิดขึ้น จึงไม่รู้ว่าจะใช้ที่อยู่ใดในการติดต่อดี เพราะฝ่ายหนึ่งอาจมีการแก้ไขให้เป็นค่าที่อยู่ในปัจจุบันแล้ว แต่อีกฝ่ายหนึ่งอาจไม่ทราบและไม่มีการแก้ไขใดๆ หากจะติดต่อกับลูกค้าจริงๆอาจมีปัญหาขึ้น แต่เมื่อนำเอาระบบฐานข้อมูลมาใช้ ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลไว้ที่เดียวกัน จึงช่วยลดปัญหาเหล่านี้ลงไปได้
9.ความซ้ำซ้อนกันของข้อมูล (data redundancy) คืออะไร จงอธิบาย
ตอบ คือการจัดเก็บข้อมูลไว้แยกกันหลายที่ ข้อมูลที่ต้องการจึงอาจมีบางส่วนที่ซ้ำซ้อนกันได้ กล่าวคือมีข้อมูลชุดเดียวกันถูกจัดเก็บใน 2 แฟ้มข้อมูลหรืออาจมากกว่านั้น ทำให้เปลืองพื้นที่ในการจัดเก็บข้อมูลโดยเปล่าประโยชน์ และเมื่อใดที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลในแฟ้มข้อมูลนั้น อาจจำเป็นต้องตามไปแก้ไขทุกๆแฟ้มที่จัดเก็บแยกกันอีกเพื่อให้ตรงกัน จึงทำให้เสียเวลาเป็นอย่างมาก
10.DBMS มีประโยชน์อย่างไรต่อการใช้งานฐานข้อมูล
ตอบ ระบบการจัดการฐานข้อมูลหรือ DataBase Management Systems เป็นเสมือนตัวกลางที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานฐานข้อมูลได้เป็นอย่างดี โดยที่ไม่จำเป็นต้องทราบถึงโครงสร้างทางกายภาพของข้อมูลในระดับที่ลึกมากก็สามารถดูแลรักษาฐานข้อมูลได้ รมถึงควบคุมการเข้าถึงข้อมูลต่างๆได้ด้วยอีกทั้งยังทำให้การค้นคืนข้อมูลต่างๆสามารถทำได้อย่างง่ายดาย ซึ่งมักจะมีภาษาการจัดการกับข้อมูลโดยเฉพาะเป็นของตนเอง
11. ภาษาที่ใช้สอบถามหรือเข้าถึงข้อมูลโดยผ่านรูปแบบการใช้คำสั่งเฉพาะ เรียกว่าภาษาอะไร จงยกตัวอย่างของคำสั่งประกอบ
ตอบ ภาษาคิวรี่เป็นภาษาที่ใช้สำหรับสอบถามหรือเข้าถึงข้อมูลฐานข้อมูลได้ ตัวอย่างของภาษาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ ภาษา SQL ซึ่งเป็นคำสั่งภาษาที่นิยมใช้กันในระบบการจัดการฐานข้อมูลเชิงสัมพันธ์ในปัจจุบันมากที่สุด ตัวอย่างของคำสั่งต่าง ๆ เช่น
- DELETE
ใช้สำหรับลบข้อมูลหรือเรคอร์ดใดๆในฐานข้อมูล
-INSERT
ใช้สำหรับเพิ่มข้อมูลหรือเรคอร์ดใดๆเข้าไปในฐานข้อมูล
- SELECT
ใช้สำหรับเลือกข้อมูลหรือเรคอร์ดใดๆที่ต้องการจากฐานข้อมูล
-UPDATE
ใช้สำหรับแก้ไขข้อมูลหรือเรคอร์ดใดๆในฐานข้อมูล
12. ความสามารถโดยทั่วไปของ DBMS มีอะไรบ้าง จงอธิบาย
ตอบ คุณสมบัติหรือความสามารถโดยทั่วไปของ DBMS พอสรุปได้ดังนี้
-สร้างฐานข้อมูล
โดยปกตินั้น การออกแบบฐานข้อมูลอาจต้องมีการเก็บข้อมูลหรือขั้นตอนการทำงานของระบบที่จะพัฒนาเสียก่อนเพื่อให้ทราบได้ว่าต้องการฐานข้อมูลอะไรบ้าง ตารางที่จัดเก็บมีกี่ตาราง จากนั้นจึงนำเอามาสร้างเป็นฐานข้อมูลจริงใน DBMS ทั่วโป โดยผ่านเครื่องมือที่มีอยู่ในโปรแกรมซึ่งอาศัยภาษา SQLในการสั่งงาน
- เพิ่ม เปลี่ยนแปลงแก้ไขและลบข้อมูล
ฐานข้อมูลที่สร้างขึ้นด้วย DBMS นั้น สามารถเพิ่มค่า เปลี่ยนแปลงหรือลบข้อมูลต่างๆได้ทุกเมื่อโดยเข้าไปจัดการได้ที่ DBMS โดยตรง เช่น เพิ่มค่าเรคอร์ดบางเรคอร์ดที่ตกหล่น ลบหรือแก้ไขข้อมูลบางเรคอร์ดที่ต้องการ เป็นต้น
- จัดเรียงและค้นหาข้อมูล
DBMS สามารถจัดเรียงข้อมูลได้โดยง่าย ซึ่งสามารถเลือกได้ว่าจะให้จัดเรียงแบบใด เรียงข้อมูลจากค่าน้อยไปหาค่ามากหรือเรียงตามลำดับวันเวลา เป็นต้น นอกจากนั้นยังสามารถระบุค่าเพียงบางค่าเพื่อค้นหาข้อมูลได้โดยง่าย เช่น ป้อนอักษร A เพื่อค้นหาข้อมูลสินค้าที่ขึ้นต้นด้วยตัวอักษร A ได้ เป็นต้น
- สร้างรูปแบบและรายงาน
การแสดงผลบนหน้าจอ (form) และพิมพ์ผลลัพธ์รายการต่างๆออกมาเป็นรายงาน (report) เป็นอีกคุณสมบัติหนึ่งที่ DBMS สามารถทำได้ ช่วยให้ผู้ใช้งานที่เกี่ยวข้องกับฐานข้อมูลดังกล่าว สามารถตรวจสอบหรือแก้ไขรายการที่มีอยู่นั้นได้โดยง่าย

วันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2555

แบบฝึกหัดท้ายบทที่ 4


                                                                                  แบบฝึกหัดท้ายบทที่ 4
                                                                          ฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง
1.คีย์บอร์ดแบบเออร์โกโนมิกส์ ช่วยลดปัญหาในการทำงานกับคอมพิวเตอร์ได้อย่างไร จงยกตัวอย่างประกอบ
ตอบ คีย์บอร์ดลักษณะดังกล่าว ถูกออกแบบมาเพื่อลดปัญหาเกี่ยวกับอาการเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อมือที่สัมผัสกับคีย์บอร์ดอยู่ตลอดเวลา โดยมีแป้นรองรับการพิมพ์สัมผัสที่ง่ายและเบา มีแท่นวางมือและออกแบบให้สัมพันธ์กับสรีระของแขนและมือให้ทำงานสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น

2. ออปติคอลเมาส์มีหลักการทำงานแตกต่างจากเมาส์แบบทั่วไปอย่างไร
ตอบ เมาส์แบบแสงหรือออปติคอลเมาส์จะทำงานได้โดยไม่ต้องใช้ล้อหมุนเหมือนกับเมาส์แบบทั่วไปแต่จะใช้แสงส่องไปกระทบพื้นผิวด้านล่าง และมีวงจรภายในทำหน้าที่วิเคราะห์แสงสะท้อนที่เปลี่ยนไปเมื่อมีการเลื่อนเมาส์ จากนั้นจะแปลงทิศทางเป็นการชี้ตำแหน่งในที่สุด ซึ่งปัจจุบันมีทั้งที่เป็นแบบต่อกับคอมพิวเตอร์โดยใช้สายและแบบไม่ใช้สาย

3. OMR คืออะไร จงอธิบายพร้อมทั้งยกตัวอย่างประกอบของลักษณะงานที่นำไปใช้
ตอบ เครื่องมือที่ใช้สำหรับอ่านหรือตรวจสอบคะแนนจากกระดาษคำตอบชนิดพิเศษ หรือชื่อเต็มว่าOptical Mark Reader มักนำไปใช้กับการตรวจข้อสอบหรือคะแนนของกลุ่มบุคคลจำนวนมาก เช่น การสอบเอ็นทรานซ์ การสอบวัดระดับความรู้ทางภาษาอังกฤษ การสอบเข้ารับราชการของสำนักงาน ก.พ.โดยจะทำการอ่านเครื่องหมายที่ผู้เข้าสอบได้ทำการระบายไว้ในกระดาษคำตอบที่ออกแบบมาพิเศษ

4. อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ถือว่าเป็น หัวใจหลักของเครื่องพีซีทุกเครื่อง คืออุปกรณ์ใด เหตุใดจึงเรียกเช่นนั้น
ตอบ เมนบอร์ด คืออุปกรณ์ที่เป็นเสมือนหัวใจหลักของเครื่องพีซี เนื่องจากเป็นแผงควบคุมวงจรการเชื่อมต่ออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของคอมพิวเตอร์เกือบทั้งหมด จะขาดไปเสียมิได้ ความสามารถของเครื่องว่าจะใช้ซีพียูอะไรได้บ้าง มีประสิทธิภาพเพียงใด สามารถรองรับกับอุปกรณ์ใหม่ๆได้หรือไม่นั้นจึงล้วนแล้วแต่ขึ้นอยู่กับเมนบอร์ดที่เลือกใช้ทั้งสิ้น

5. หน่วยเก็บข้อมูลสำรองแบ่งได้เป็นกี่ประเภท อะไรบ้าง จงยกตัวอย่างมาประเภทละ 2 รายการ
ตอบ สามารถแบ่งออกได้เป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ 4 ประเภทดังนี้
แบบจานแม่เหล็ก  เป็นอุปกรณ์สำรองข้อมูลที่เป็นลักษณะของจานแม่เหล็กสำหรับบันทึกข้อมูลไว้ภายใน (disk) ได้รับความนิยมและใช้งานมานานพอสมควร ที่รู้จักกันดี เช่น ฟล็อปปีดิสก์และฮาร์ดดิสก์
แบบแสง  เป็นสื่อเก็บข้อมูลสำรองที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน โดยใช้หลักการทำงานของแสง การจัดเก็บข้อมูลจะคล้ายกับแผ่นจานแม่เหล็กต่างกันที่การแบ่งจะเป็นรูปก้นหอยและเริ่มเก็บบันทึกข้อมูลจากส่วนด้านในออกมาด้านนอก ที่เป็นที่นิยมและรู้จักกันดี เช่น CD และ DVD เป็นต้น
แบบเทป  เป็นสื่อเก็บข้อมูลที่สามารถเก็บข้อมูลได้เป็นจำนวนมากและเข้าถึงข้อมูลแบบเรียงลำดับต่อเนื่องกันไป มีการผลิตขึ้นมาหลายขนาดแตกต่างกันไป เช่น DAT และ QIC เป็นต้น
แบบอื่นๆ  เป็นสื่อเก็บข้อมูลแบบใหม่ที่พบเห็นได้ทั่วไปในปัจจุบัน มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น flash drive,thumb drive หรือ handy drive เป็นต้น อีกชนิดหนึ่งอาจพบเห็นในรูปของแผ่น memory cardเพื่อใช้สำหรับจัดเก็บข้อมูลประเภทภาพถ่ายหรือข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ในอุปกรณ์ดิจิตอลแบบพกพาทั้งหลาย เช่น กล้องถ่ายรูปดิจิตอล เป็นต้น

6. แทรคและเซกเตอร์ในสื่อเก็บข้อมูลจานแม่เหล็กคืออะไร
ตอบ พื้นที่เก็บข้อมูลบนแผ่นจานแม่เหล็ก โดยที่แทรคจะเป็นลักษณะของพื้นที่แนววงกลมรอบๆแผ่นจาน จะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับชนิดและประเภทของจานแม่เหล็กนั้นด้วย ซึ่งแผ่นแต่ละแผ่นจะมีความหนาแน่นของสารแม่เหล็กแตกต่างกันทำให้ปริมาณความจุจึงต่างกันด้วย ส่วนเซกเตอร์นั้น เป็นส่วนของแทรคที่แบ่งย่อยออกมาเป็นส่วนๆ หากเปรียบเทียบแผ่นจานแม่เหล็กเป็นคอนโดมิเนียมหลังหนึ่งแล้วเซกเตอร์ก็เปรียบเหมือนกับห้องพักที่แบ่งให้คนอยู่เป็นห้องๆนั่นเอง

7. แผ่นดิสก์เก็ตต์แผ่นหนึ่งเก็บข้อมูลได้ 2 ด้าน แต่ละด้านมี 80 แทรค แต่ละแทรคแบ่งได้ 9 เซกเตอร์ และแต่ละเซกเตอร์สามารถเก็บข้อมูลได้มากถึง 512 ไบต์ จงคำนวณหาความจุของแผ่นนี้
ตอบ ความจุของแผ่นดิสก์เก็ตแผ่นนี้ สามารถคำนวณหาได้ดังนี้
ความจุของแผ่นดิสก์เก็ต = 2 X 80 X 9 X 512 bytes
  = 737,280 bytes
  = 720 KiB (737,280/1024)
หรือ         = 737.28 KB (737,280/1000)

8. ดิสเก็ตต์และฮาร์ดดิสก์ มีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง จงอธิบาย
ตอบ ดิสเก็ตต์จะมีราคาถูกกว่ามาก แต่จะเก็บข้อมูลได้ไม่มากเท่ากับฮาร์ดดิสก์เพราะมีพื้นที่จานเก็บข้อมูลขนาดใหญ่กว่า ซึ่งประกอบด้วยจานหลายแผ่น ทำให้จำนวนแทรคและเซกเตอร์จึงมีมากตามไปด้วยสำหรับการอ่านข้อมูลนั้น หัวอ่านข้อมูลของดิสเก็ตต์จะสัมผัสแผ่นจานทุกครั้งที่อ่าน แต่สำหรับการอ่านข้อมูลในฮาร์ดดิสก์หัวอ่านจะลอยอยู่เหนือแผ่นจาน ไม่มีการสัมผัสตัวแผ่นจานแต่อย่างใด

9. สื่อเก็บข้อมูลประเภท CD และ DVD มีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
ตอบ สื่อเก็บข้อมูลแบบ CD จะเหมาะกับการเก็บข้อมูลทั่วไป เช่น ข้อมูลไฟล์การทำงาน ข้อมูลโปรแกรมเพื่อใช้งาน รวมถึงบันทึกเสียงเพลง ส่วนแบบ DVD จะมีคุณสมบัติที่ดีกว่าคือ เก็บข้อมูลได้เยอะมากยิ่งขึ้น สามารถจุมากสุดได้ถึง 17 GB จึงเหมาะสมกับการเก็บข้อมูลงานทางด้านมัลติมีเดียเพื่อให้เกิดความสมจริงของทั้งภาพและเสียงมากที่สุดนั่นเอง

10.Point Of Sale คืออะไร
ตอบ จุดบริการขายที่มักพบตามห้างสรรพสินค้า ร้านค้าสะดวกซื้อทั่วไป โดยผู้ซื้อสามารถนำสินค้ามาชำระเงินยังจุดบริการขายนี้ได้ทันที ซึ่งระบบจะมีการจัดการเกี่ยวกับรายการซื้อขายเองโดยอัตโนมัติ

11. งานเกี่ยวกับการออกใบเสร็จรับเงิน การออกใบกำกับภาษีที่ต้องมีสำเนาหลายใบ ควรใช้เครื่องพิมพ์แบบใด  เครื่องดังกล่าวมีหลักการทำงานอย่างไรบ้าง
ตอบ ควรใช้เครื่องพิมพ์แบบดอทเมตริกซ์ เนื่องจากลักษณะงานคือการพิมพ์สำเนาหลายๆแผ่นในครั้งเดียว คุณสมบัติของเครื่องพิมพ์แบบนี้จะมีความเหมาะสมต่อการใช้งานแบบนี้มาก อีกทั้งยังช่วยให้ประหยัดเวลาและสะดวกกว่าที่จะใช้เครื่องพิมพ์แบบอื่นเพื่อพิมพ์ครั้งละแผ่น หลักการทำงานจะอาศัยหัวเข็มพิมพ์กระทบลงไปที่ตัวกระดาษโดยตรง เมื่อใช้กระดาษสำเนาซ้อนทับจึงให้ได้ผลลัพธ์ออกมาเหมือนกับแผ่นต้นฉบับ

12. เครื่องพิมพ์แบบอิงค์เจ็ตและแบบเลเซอร์ แตกต่างกันอย่างไรบ้าง จงอธิบาย
ตอบ เครื่องพิมพ์แบบอิงค์เจ็ตอาศัยหลักการพิมพ์โดยใช้ผงหมึกพ่นลงไปบนกระดาษ มีทั้งหมึกสีและขาวดำ เหมาะกับงานพิมพ์เอกสารที่ต้องการความสวยงาม เช่น ภาพถ่าย โปสการ์ด ปฎิทินหรือพิมพ์บนกระดาษแบบพิเศษแล้วนำไปติดกับเสื้อผ้าหรือแก้วกาแฟ ส่วนเครื่องพิมพ์แบบเลเซอร์ราคาอาจแพงกว่าเนื่องจากให้ความคมชัดได้ดี หลักการทำงานจะอาศัยแสงเลเซอร์ยิงตกลงไปบนกระดาษ คล้ายกับการทำงานของเครื่องถ่ายเอกสาร แต่มีข้อเสียคือไม่สามารถพิมพ์เอกสารที่เป็นแบบสำเนาได้ ปัจจุบันมีทั้งที่เป็นแบบสีและขาวดำ